Build & Design : BenQ Joybook S33W
ความรู้สึกแรกที่ได้เห็น BenQ Joybook S33W เป็นโน้ตบุ๊คสีขาวที่มีความสวยงามในตัวเอง ฝาเครื่องเคลือบมันมีลวดลายพองาม ผิวเคลือบติดรอยนิ้วมือได้ง่าย และไม่ทนรอยขีดข่วนเหมือนโน้ตบุ๊คทั่วไป ต้องยอมรับว่าเป็นโน้ตบุ๊คสีขาวที่ออกแบบได้สวยงามรุ่นหนึ่งทีเดียว
การออกแบบของ BenQ Joybook ทุกรุ่นจะเป็นแบบไม่มีตัวล็อคที่จอภาพ การล็อคจะใช้แกนล็อคที่ตัวเครื่องเท่านั้น บางคนอาจจะไม่ชอบเพราะคิดว่าเสียง่าย แต่ถ้าใช้งานดีๆ และเปิด/ปิดธรรมดาก็ไม่น่าจะเกิดปัญหา แถมดีซะอีกที่ไม่ต้องมีสวิตช์ล็อคให้เกะกะดูไม่สวยงาม
เมื่อเปิดฝาเครื่องขึ้นมา ภายในก็ยังคงเป็นสีขาว ปุ่มของคีย์บอร์ดจะเป็นปุ่มขาวใสๆ ตรงจุดนี้บางคนอาจจะติว่า น่าจะทำปุ่มคีย์บอร์ดให้เป็นสีขาวปกติจะสวยกว่า ตัวเครื่องโดยรวมวางตำแหน่งของหัวต่อได้ค่อนข้างดี เส้นสายต่างๆ เรียบหรูกำลังดี ลองจับๆ กดๆ ตามขอบมุมและบริเวณที่รองข้อมือ ก็แน่นหนาใช้ได้ ไม่มีร่องรอยการยุบให้น่าตกใจ
LCD Display
BenQ Joybook S33W ติดตั้งหน้าจอ Wide Screen ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียดของจอภาพ 1,280x800 พิกเซล เคลือบหน้าจอแบบจอกระจก (Glossy) จอภาพของ BenQ ใช้เทคโนโลยี UltraVivid ร่วมกับคุณสมบัติ DBEFTM (Display Brilliance Enhancement Film) ช่วยเพิ่มความสว่างและตัวเคลือบการสะท้อนต่ำเพื่อต้านแสงสะท้อน ต้องยอมรับว่าเป็นจอกระจกรุ่นหนึ่งที่มีแสงสะท้อนในห้องทำงานน้อยดีมาก
Keyboard & Touchpad
BenQ Joybook S33W แม้จะเป็นโน้ตบุ๊คขนาดเล็ก แต่ก็มีที่วางข้อมือขนาดกำลังดี คีย์บอร์ดขนาดมาตรฐาน ทัชแพดขนาดพอเหมาะ ตัวทัชแพดทำลวดลายเป็นคลื่น ช่วยให้ผิวสัมผัสไม่ลื่นเกินไป ปุ่มกดของทัชแพดก็กดง่ายดี
ปุ่มฟังก์ชันจะอยู่ด้านบนซ้ายมือ ตำแหน่งเดียวกับหลอดไฟแสดงการทำงานของไดรว์ (หลอดไฟแสดงการทำงานและแบตเตอรี่จะอยู่ที่มุมด้านล่างของเครื่อง) ปุ่มฟังก์ชันมีปุ่มคีย์ลัดที่ใช้ร่วมกับ QShot เพื่อถ่ายภาพจากกล้องเว็บแคม และปุ่ม SRS เพื่อเลือกเปิด/ปิดระบบเสียง SRS TruSurround XT
จุดที่น่าชมเชยอย่างมาก คือแม้จะเป็นโน้ตบุ๊คขนาดเล็กแต่ปุ่มคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่มาตรฐาน พร้อมกับมีปุ่ม Home/End และ Page Up/Page Down มาให้ครบ ไม่ต้องใช้ร่วมกับปุ่ม Fn ช่วยให้คนที่ชอบอ่านหนังสือหรือไฟล์ PDF บนโน้ตบุ๊คใช้งานได้สะดวกขึ้น
Port Connection
พอร์ตเชื่อมต่อของ BenQ Joybook S33W นั้นให้มาครบถ้วน โดยถูกวางไว้ที่ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหน้าเป็นหลัก
ด้านซ้ายจะมี Express Card, หัวต่อ Firewire (IEEE1394a), USB 2.0 2 พอร์ต, หัวต่อการ์ดแลน, หัวต่อ S-Video, หัวต่อจอภาพ VGA และหัวต่อปลั๊กไฟ
ทางด้านขวามีหัวต่อโมเด็ม, ไดรว์ DVD SuperMulti, USB 2.0 จำนวน 2 พอร์ต และตัวล็อค Kensington
ด้านหน้ามีสวิตช์กดเปิด/ปิดไวร์เลสและบลูทูธ, รวมหัวต่อทางด้านเสียง พวก Line Out และไมโครโฟน และตัวอ่านการ์ด (Card Reader)
ด้านหลังมีเพียงแบตเตอรี่ กับช่องระบายความร้อนเท่านั้น
พอร์ต USB รุ่นนี้ออกแบบมาได้เกือบจะดีอยู่แล้ว มีมาให้ถึง 4 พอร์ต แบ่งเป็นด้านซ้าย 2 พอร์ต และด้านขวามี 2 พอร์ต แต่ตำแหน่งพอร์ต USB ทั้ง 2 ช่องในแต่ละด้านจะวางซ้อนกัน ส่งผลให้อาจเสียบอุปกรณ์ USB หนาๆ พร้อมกันไม่ได้ จึงเป็นจุดอ่อนของการวางตำแหน่งพอร์ต USB
คู่มือภาษาไทย
สิ่งหนึ่งที่พบเห็นคู่กับโน้ตบุ๊คของ BenQ มาตลอดและรู้สึกชื่นชมเป็นพิเศษคือ “คู่มือภาษาไทย” ทุกวันนี้เราจะพบเห็นโน้ตบุ๊คหลายรุ่น หลายยี่ห้อวางจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีสเปคที่สุดหรูอลังการและแบบธรรมดาๆ โน้ตบุ๊คหลายยี่ห้อขายในเมืองไทยมาหลายปี นานกว่า BenQ ด้วยซ้ำไปแต่จนบัดนี้ก็ไม่เคยคิดจะทำคู่มือภาษาไทยในคนไทยได้ใช้งาน!
BenQ Joybook S33W มีคู่มือภาษาไทยแถมมาด้วยเช่นเดียวกับ BenQ รุ่นอื่นๆ เรียกว่าถ้าผู้ใช้เกิดสงสัยก็ยังพอจะพึ่งคู่มือได้บ้าง ยังดีกว่าไม่มีอะไรให้พึ่งพาเลย ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คบางยี่ห้อที่ขายดีกว่า BenQ เสียอีก แต่กลับไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนไทยเลยสักนิด !!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น